ถ่ายฟิล์ม แต่ทำไมถึงไม่ได้รูป?
พูดถึงการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม ใครๆ ก็อยากได้ภาพออกมาอยู่แล้ว แต่บางเคสมันก็มีเหตุทำให้เราไม่ได้ภาพเหมือนกัน ซึ่งทั้งนี้ก็มีฟิล์มแต่ละม้วนก็พอจะฟ้องถึงสาเหตุได้อยู่เหมือนกันว่าเราอาจจะพลาดตรงไหน?

ถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์มแล้วไม่ได้รูป เป็นประสบการณ์ที่คนถ่ายกล้องฟิล์มไม่อยากจะเจอกับตัวกันทั้งนั้นครับ แต่ถ้าเกิดเรารู้ถึงสาเหตุว่าแต่ละความผิดพลาดเกิดขึ้นได้อย่างไรก็เป็นการป้องกันที่ดีอย่างหนึ่งครับ
ฟิล์มไม่ขึ้นรูป หรือ Blank Film เป็นอาการที่ฟิล์มบันทึกข้อมูลบนเนื้อฟิล์มผิดพลาดจากที่เราต้องการ ผลคือการถ่ายฟิล์มแล้วไม่ได้รูป ซึ่งเราสามารถสืบปัญหา "ย้อนกลับ" ได้จากการดูเนื้อฟิล์ม หรือ เนกาทีฟ ของฟิล์มม้วนนั้นๆ ครับ

ก่อนที่จะรู้ว่าเราทำอะไรผิดพลาดบนกล้องฟิล์ม ก็ควรจะรู้เสียก่อนว่ากล้องฟิล์มทำงานอย่างไรครับ
กล้องฟิล์ม (และรวมถึงกล้องดิจิตอลด้วย) ทำงานได้ด้วยความสัมพันธ์ของ 3 สิ่งครับ
(1) Shutter Speed: ความไวของชัตเตอร์
(2) Aperture: ความกว้างของรูรับแสง และ
(3) ISO: ค่าความไวต่อแสง
สามสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งเรียกว่า Exposure Triangle ครับ
(ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับ Exposure Triangle อ่านได้ ที่นี่ ครับ)

กล้องฟิล์ม ทำงานไม่เหมือนกับกล้องดิจิตอล ตรงที่ กล้องฟิล์มจะใช้ฟิล์ม ซึ่งมีค่า ISO "ความไวต่อแสง" คงที่ตลอดทั้งม้วน (fixed ISO)
กล้องดิจิตอลจะเป็นการบันทึกภาพลงบนเซนเซอร์ภาพ ซึ่งสามารถชดเชย/ปรับ ค่า ISO ได้ตาสภาพแสงในชอทนั้นๆ ได้เลย (variable ISO)
นั่นคือสาเหตุหลักที่กล้องฟิล์มถึงถ่ายภาพได้ยากกว่ากล้องดิจิตอล เพราะเมื่อเราได้เลือกฟิล์มใส่กล้องแล้ว เราต้องถ่ายภาพให้เหมาะสมกับค่า ISO ของฟิล์มม้วนนั้นครับ

กลับมาเรื่องอาการ Blank Film กันครับ
ถึงแม้ว่าฟิล์มจะไม่ขึ้นรูป แต่ฟิล์มก็ทิ้งหลักฐาน/ข้อสังเกตไว้ให้เรารู้เบื้องต้นว่าเราพลาดตรงไหนนะครับ
อาการหลักๆ บนเนกาทีฟมีดังนี้ครับ
อาการที่ 1: ฟิล์มใส แต่ตัวอักษรชัด
อาการที่ 2: ฟิล์มสีดำทึบ
อาการที่ 3: ฟิล์มใส และไม่มีข้อความข้างฟิล์ม

อาการที่ 1: ฟิล์มใส แต่ตัวอักษรชัด
ข้อความต่างๆ ข้างเนื้อฟิล์มนี้ เรียกว่า Film Data หรือ KeyKode (สะกดแบบนี้ครับ เป็นวิธีระบุคาแรกเตอร์ของฟิล์ม ซึ่ง Kodak คิดค้นเมื่อปี 1990)
การที่ฟิล์มผ่านการขั้นตอนการสร้างภาพ (developer) มีข้อความส่วนนี้ชัดเจน แต่ผลของภาพออกเป็นใสทั้งม้วน ยืนยันข้อเท็จจริงได้ 2 อย่างว่า
(1) ฟิล์มม้วนนี้ยังมีคุณภาพในการสร้างภาพอยู่ และ
(2) ฟิล์มม้วนนี้ยังไม่ได้ถูกบันทึกภาพด้วยแสงเลย
สันนิษฐานข้อผิดพลาด อาจเป็นไปได้ว่า...
- ฟิล์มม้วนนี้อาจจะโหลดในกล้องไม่ดี และหางฟิล์มเผลอหลุดออกแกนดึงฟิล์ม จึงทำให้ฟิล์มไม่เดิน?
- ม่านชัตเตอร์อาจจะค้างไม่เปิดทั้งม้วน?
- ลูกค้าอาจจะหยิบฟิล์มผิดม้วน เผลอนำฟิล์มที่ยังไม่ถ่ายมา develop?
(เกี่ยวกับ KeyKode อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่)

อาการที่ 2: ฟิล์มสีดำทึบ
สีดำทั้งม้วนแบบนี้ แสดงถึง ฟิล์มม้วนนี้โดนแสงมาแล้วทั้งม้วน
ข้อนี้เป็นข้อผิดพลาดคลาสสิกของคนถ่ายกล้องฟิล์มมือใหม่ครับ นั่นคือ เผลอเปิดฝาหลังกล้องโดยยังไม่ได้ rewind ฟิล์มกลับเข้ากลัก เนื้อฟิล์ม emulsion เป็นวัตถุไวต่อแสงสูง การเผลอเปิดฝาหลังขึ้นมาก็จะทำให้ภาพเสียออกมาเป็นสีดำสนิท ในลักษณะนี้ครับ
*เพิ่มเติมครับ*
ร้านฟิล์มทั่วไปมักจะเก็บเศษหางฟิล์มที่เหลือจากการตัดฟิล์ม เอาไว้เป็น tester เพื่อจุ่มลงไปกับน้ำยา Developer เพื่อทดลองว่าน้ำยายังมีประสิทธิภาพดีอยู่หรือเปล่า ถ้าจุ่มเศษหางฟิล์มลงไปแล้วได้หางฟิล์มเป็นสีดำสนิท ก็แปลว่า เคมี developer ยังคงใช้การได้ครับ

อาการที่ 3: ฟิล์มใส และไม่มีข้อความข้างฟิล์ม
ฟิล์มที่ใสทั้งม้วนอย่างนี้อาจเป็นไปได้ 2 กรณีครับ
1) การเผลอใช้เคมีล้างฟิล์มผิดพลาด : ตัวอย่างเช่น
- เผลอใช้ fixer (น้ำยาคงสภาพภาพ) ก่อน developer (น้ำยาสร้างภาพ)
- น้ำยา developer หมดอายุ การสร้างภาพบนฟิล์มจึงไม่สำเร็จ
2) ฟิล์มหมดอายุจนเสื่อมสภาพ : ข้อสังเกตนี้อาจเอาไปสังเกตกับฟิล์มหมดอายุที่สร้างภาพได้ไม่เต็มประสิทธิภาพด้วย คือ เห็นข้อมูล Film Data จาง ไม่คมเข้มเหมือนฟิล์มปกติ

อาการอื่นๆ ก็มีนะครับ เช่น ม่ายชัตเตอร์ค้าง หรือ ทำงานไม่สมบูรณ์ อย่างตัวอย่างในภาพคือ ชัตเตอร์เปิดบ้าง-ปิดบ้าง บางชอทถ่ายพอดี บางชอทถ่ายขาดๆ เกินๆ
อาการลักษณะนี้ สันนิษฐานว่าเกิดจากตัวกล้องมีปัญหาครับ

สรุป:
Blank Film แม้จะมีผลของความผิดพลาดบนกล้องฟิล์มคือ ไม่ได้ภาพเหมือนกัน แต่การเอาเนื้อฟิล์มเนกาทีฟมาวิเคราะห์ว่าปัญหาสาเหตุเกิดจากอะไร ก็ช่วยลดความเสี่ยงในการใช้กล้องฟิล์มไปได้เยอะครับ
ขอสรุปอาการหลักๆ ของ Blank film ไว้ตรงนี้นะครับ
[อาการที่ 1: ฟิล์มใส แต่ข้อมูลฟิล์มชัดเจน]
- สรุปได้ 2 อย่างแน่นอนครับว่า
(1) กระบวนการล้างฟิล์ม (develop) ถูกต้องแล้ว และ
(2) ฟิล์มม้วนนี้ไม่ได้เสื่อมสภาพ สร้างภาพได้เป็นปกติ
- แต่ที่ไม่ได้รูปบนฟิล์มน่าจะเกิดจากปัญหาฟิล์มหลุดในกล้อง ทำให้ฟิล์มไม่ advance จึงไม่ได้รูปบนฟิล์ม
[อาการที่ 2: ฟิล์มดำทั้งม้วน ดำไปถึงหนามเตย]
- อันนี้เป็นเพราะแสงรอดมาโดนฟิล์ม
- สำหรับคนใช้กล้อง: ปัญหานี้มักจะเกิดขึ้นจากการเผลอเปิดฝาหลังกล้อง
- สำหรับคนล้างฟิล์ม: อันนี้เพราะถุงมืดโดนแสงลอดเข้ามาโดนฟิล์ม
- หรือฟิล์มนี้อาจจะโดนแสง เสียมาตั้งแต่ต้นแล้วก็เป็นไปได้ครับ
[อาการที่ 3: ฟิล์มใสทั้งม้วน ไม่ได้ภาพและไม่มีข้อมูลฟิล์ม หรือจางมากๆ]
- อาจจะเป็นไปได้ว่ากระบวนการ develop มีปัญหาครับ
ตัวอย่างเช่น
(1) เผลอใช้ fixer ก่อน developer
(2) developer เสื่อมสภาพไปแล้ว
- ฟิล์มหมดอายุ หรือฟิล์มเสื่อมสภาพหนักๆ (เช่น เก็บในที่ร้อน เก็บแช่ไว้ในรถยนต์นานๆ) ก็อาจจะเป็นปัญหาแบบนี้ได้เหมือนกันครับ
ขอบคุณสำหรับการติดตามเพจ ล้างฟิล์มด้วยตนเอง ครับผม